คนที่เป็นโรคไตหรือมีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคไต ส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ”ฟอสฟอรัส” จากแพทย์ นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการหรือแม้กระทั่ง จากใบแสดงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการกันมาบ้าง แต่เคยสงสัยไหมคะว่าไอเจ้าค่านี้มันคือค่าอะไร…

Morbi vitae purus dictum, ultrices tellus in, gravida lectus.

จริงๆแล้วฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยส่วนใหญ่มันจะถูกเก็บไว้ในกระดูกของเราถึง 80 เปอร์เซ็น นอกนั้นจะถูกเก็บไว้ที่กล้ามเนื้อและเลือดค่ะ ซึ่งในคนปกติหากได้รับฟอสฟอรัสเกินก็จะถูกขับทิ้งทางไตโดยออกมาในรูปของปัสสาวะ แต่คนที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพก็จะมีการคั่งของฟอสฟอรัสในเลือด ซึ่งการที่มีฟอสฟอรัสสะสมในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง กระดูกบางและเปราะ หลอดเลือดแดงแข็งและนอกจากนี้ฟอสฟอรัสจะไปจับตัวกับแคลเซียมส่งผลให้มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อต่างๆซึ่งทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังได้ค่ะ พออ่านถึงตรงนี้แล้วหลายๆคนคงจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า..แล้วคนที่เป็นไตนั้นจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการสะสมของฟอสฟอรัสในเลือดได้..ซึ่งจริงๆแล้วก็มีหลายวิธีด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานยาจำพวกแคลเซียมเม็ดหรืออะลูมินั่ม ซึ่งเป็นยาที่สามารถจับฟอสฟอรัสในทางเดินอาหาร หรืออีกวิธีคือการฟอกเลือดหรือฟอกไต ที่เรียกว่า Renal replacement therapy ซึ่งวิธีนี้จะใช้เฉพาะคนเป็นไตที่แพทย์มีความเห็นว่ามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องฟอกเลือดเท่านั้นนะคะ ไม่ใช่การล้างพิษโดยการฟอกเลือดอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ในกรณีที่คนไข้ไตมีการสะสมของฟอสฟอรัสในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลให้ต่อมพาราไทรอยด์มีการทำงานที่ผิดปกติ ซึ่งในกรณีเช่นนี้แพทย์อาจมีการพิจารณาให้ผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกค่ะ

มาถึงวิธีสุดท้ายซึ่งเป็นวิธีที่ดูจะทำได้ง่ายที่สุดนั่นคือ การจำกัดฟอสฟอรัสจากอาหารค่ะ ซึ่งสมาคมโรคไตได้ให้ข้อมูลไว้ว่าหากระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงมากกว่า 4.8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะต้องมีการจำกัดฟอสฟอรัสให้ต่ำกว่า 800 มิลลิกรัม/วัน โดยอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงและควรจะงดหรือจำกัดปริมาณในช่วงที่มีฟอฟอรัสสะสมในเลือดมากนั้น ได้แก่ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม เมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ ถั่วกวน อาหารที่ใช้ยีตส์หรือผงฟู เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท รวมไปถึงอาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูปและน้ำอัดลมจำพวกโคล่าก็ควรจะงดในช่วงที่มีฟอสฟอรัสสะสมในเลือดสูงด้วยเช่นกันค่ะ

นอกจากจะใช้วิธีการจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือการเลือกรูปแบบของฟอสฟอรัสค่ะ เชื่อว่าหลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่ารูปแบบของฟอสฟอรัสที่แตกต่างกันนั้นก็ส่งผลให้การดูดซึมฟอสฟอรัสของร่างกายแตกต่างกันด้วย อย่างฟอสฟอรัสที่มีตามธรรมชาติในอาหาร เช่น ในนม ไข่แดง เมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆนั้น จะถูกร่างกายดูดซึมได้น้อยกว่าฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปสารสังเคราะห์ เช่น น้ำอัดลม อาหารแช่เข็ง อาหารแปรรูป อาหารหรือเบเกอรรี่ที่มีการใช้ยีตส์หรือผงฟู เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงก็ขอให้เลือกรูปแบบที่มีฟอสฟอรัสตามธรรมชาติจะดีกว่ารูปแบบสังเคราะห์ค่ะ

การจำกัดฟอสฟอรัสจากอาหารเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและสามารถเริ่มทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่หลายท่านอาจจะพบกับปัญหาเรื่องความหลากหลายของอาหาร พาลทำให้ผู้ป่วยเบื่ออาหาร กินได้น้อยและส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ผู้ดูแลอาจจะลองปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร หรือหาสูตรอาหารใหม่ๆมาดัดแปลงให้มีความเหมาะสมกับโรคก็น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยเจริญอาหารได้และรับประทานได้มากขึ้นค่ะ

อ้างอิง

อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์.ฟอสฟอรัส[อินเตอร์เน็ต].2551[เข้าถึงเมื่อ 2562 กรกฎาคม 25].เข้าถึงได้จาก : http://www.kidneythai.org/pdf/food_phosphorus.pdf

ชวลิต รัตนกุล.อาหารบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะก่อนฟอกเลือด[อินเตอร์เน็ต].มปป[เข้าถึงเมื่อ 2562 กรกฎาคม 25].

ณัฐพล เลาหเจริญยศ.อาหารและฟอสฟอรัส[อินเตอร์เน็ต].มปป[เข้าถึงเมื่อ 2562 พฤศจิกายน 9].เข้าถึงได้จาก : http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-63

Emilio G, Carolina G ,Jes´us E ,and Alberto O. Phosphorus and Nutrition in Chronic Kidney Disease [Internet].2012 [cited 2019 Nov 9 ]. Available from: https://www.hindawi.com/journals/ijn/2012/597605/

Guillermina BC , María BP, José AS. Table showing dietary phosphorus/protein ratio for the Spanish population. Usefulness in chronic kidney disease [Internet].2013 [cited 2019 Nov 9 ]. Available from: https://www.revistanefrologia.com/en-table-showing-dietary-phosphorus-protein-ratio-articulo-X2013251413003197

Marc GV, Siren S, Ziad AM, Lina J, Mario C, Denis F. The role of phosphate in kidney disease [Internet].2016 [cited 2019 Nov 9 ]. Available from: https://www.nature.com/articles/nrneph.2016.164