“แพ้นม ห้ามดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม” ทุกคนต้องเคยได้ยินประโยคนี้เป็นแน่ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วนั้น ภาวะของการแพ้นม มี 2 ประเภท ได้แก่ Milk Allergy กับ Milk Intolerance (Lactose Intolerance) ซึ่งทั้งสองประเภทนี้เป็นสาเหตุให้ต้องงดการดื่มนมและงดการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม คนส่วนใหญ่ชอบเหมารวมคิดว่าเป็นอันเดียวกัน แต่อันที่จริงนั้นทั้งสองกรณีนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพ้นมทั้งสองกรณีนี้ เพราะจะได้เป็นประโยชน์กับตัวของท่านเองหรือคนรอบข้างที่อาจจะเป็นอยู่ แต่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ เราจะมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังกัน

Morbi vitae purus dictum, ultrices tellus in, gravida lectus.

1. Milk Intolerance หรือเรียกอีกอย่างว่า Lactose Intolerance กล่าวคือ เป็นภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตส กรณีแรกนี้เกิดจากที่ร่างกายขาดเอนไซม์ที่เรียกว่า “แลคเตส (Lactase)” ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ในการย่อยน้ำตาลแลกโตสในนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม (Dairy products) โดยสาเหตุของการขาดเอนไซม์นี้อาจจะมาจากการที่ทานอาหารไม่ค่อยได้เพราะอายุมากขึ้น ทำให้เซลล์สร้างเอนไซม์นี้ได้น้อยลง หรือเกิดหลังจากติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เซลล์ในระบบทางเดินอาหารเสียจนทำให้สร้างเอนไซม์ไม่ได้ชั่วคราว จนทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ ความรุนแรงของอาการขึ้นกับปริมาณเอนไซม์แลคเตสที่ร่างกายสามารถสร้างได้ สำหรับน้ำตาลแลคโตสที่ย่อยไม่ได้นี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู้ลำไส้ใหญ่ จากนั้นแบคทีเรียในลำไส้จะทำปฏิกิริยากับน้ำตาลแลคโตสที่ย่อยไม่ได้นี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง (Stomach pain) มีแก๊สเกิดขึ้นและรู้สึกไม่สบายท้อง (Gas and bloating) คลื่นไส้ (Nausea) หรือท้องเสีย (Diarrhea) โดยอาการจะขึ้นหลังจากการที่ดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไปประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง และความรุนแรงของอาการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำตาลแลคโตสที่ท่านรับเข้าไป

“แล้วอาหารอะไรบ้างที่มีน้ำตาลแลคโตส เป็นองค์ประกอบ?”

อาหารที่มีน้ำตาลแลคโตสเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ นมวัว นมแพะ เวย์โปรตีน เคซีน มาการีน ตังเม นมผงต่าง ๆ ไอศกรีม นอกจากนี้แล้วยังมีอาหารบางอย่างที่ท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วมีน้ำตาลแลคโตสเป็นองค์ประกอบอยู่ ได้แก่ บิสกิต คุ้กกี้ เค้ก น้ำสลัด วาฟเฟิล ซอสบางประเภท อาหารเช้าซีเรียล รวมทั้งอาหารแปรรูปบางประเภทที่อาจจะมีการเติมนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป ซึ่งหน้าที่ของท่านก็คือพยายามอ่านฉลากโภชนาการที่อยู่ข้างบรรจุภัณฑ์เพื่อดูว่าอาหารที่ท่านเลือกนั้นมีส่วนประกอบของนมและผลิตภัณฑ์จากนมดังที่กล่าวไปในข้างต้นหรือไม่

“แล้วเราจะรักษาภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตสได้อย่างไร?”

เชื่อว่าต้องเป็นคำถามยอดฮิตของใครหลาย ๆ คนว่า ถ้าเราเป็นแล้ว เราจะรักษาอย่างไรดี ขอตอบในทีนี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ทำให้ร่างกายสามารถผลิตน้ำย่อยแลคเตสได้มากขึ้น แต่มีการผลิตยาที่เป็นเอนไซม์แลคเตส เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีเอนไซม์แลคเตสกินทดแทน ทั้งนี้ในประเทศไทยยังไม่มีเอนไซม์เดี่ยว ๆ ผลิตจำหน่าย การรักษาหรือวิธีแก้ไขคือ ให้ลดหรืองดนมรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม แต่อย่างไรก็ตามท่านสามารถดื่มนมได้ในปริมาณเล็กน้อย จะไม่ทำให้ท่านเกิดอาการแพ้น้ำตาลแลคโตสขึ้น ท่านสามารถเลือกรับประทานโยเกิร์ต นมทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ นมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free milk) นมแอลมอนด์ นมถั่วเหลือง หรือนมข้าว เป็นต้น รวมทั้งรับประทาน Hard cheese บางประเภทได้ เช่น cheddar cheese, swiss cheese และ parmesan cheese โดยอาหารดังกล่าวจะมีปริมาณของน้ำตาลแลคโตสที่ต่ำกว่านมและผลิตภัณฑ์จากนมอื่น ๆ

2. Milk Allergy หรือที่รู้จักกันในชื่อ Cow’s milk allergy (แพ้โปรตีนในนมวัว) สำหรับการแพ้ในกรณีนี้จะแตกต่างจากการแพ้น้ำตาลในนมอย่างสิ้นเชิง เพราะการแพ้โปรตีนในนมเป็นปฏิกิริยาการแพ้โปรตีน (Allergic reaction) ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปฏิกิริยาการแพ้นี้สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหรืออาจจะหลายชั่วโมงหลังจากดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป มักเกิดในทารกและเด็กเล็ก แต่อย่างไรก็ตามภาวะการแพ้นี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยของชีวิต ซึ่งอาการจะประกอบไปด้วย ปวดท้อง (Stomach pain) คลื่นไส้ (Nausea) ท้องเสีย (Diarrhea) มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง (Skin rash) ปากบวมและหลอดลมตีบ (Swelling of the lips or throat) หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก (Trouble breathing) อาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ จะเห็นได้ว่าอาการของการแพ้โปรตีนในนมจะรุนแรงกว่าการแพ้น้ำตาลในนม ถ้าสงสัยว่าเป็นภาวะนี้หรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูค่า IgE ต่อโปรตีนในนมได้

“แล้วเราจะรักษาภาวะแพ้โปรตีนในนมได้อย่างไร?”

โปรตีนที่พบในนมมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ เคซีน เป็นองค์ประกอบในนมประมาณ 80% และอีก 20% ก็คือเวย์โปรตีน โดยโปรตีนเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดอาการขึ้น โปรตีนนมสามารถพบได้ในอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของนมอยู่ ซึ่งท่านอาจคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น ไส้กรอก เนื้อสัตว์แปรรูป หมากฝรั่งบางประเภท รวมทั้งเครื่องดื่มให้พลังงานต่าง ๆ (Energy drinks) เช่น เวย์ วิธีที่ดีที่สุดคือให้เลี่ยงการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์จากนม และอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งเพื่อดูว่ามีส่วนผสมของนมอยู่หรือไม่

สรุปว่าทั้งสองภาวะนี้ จำเป็นที่จะต้องงดหรือจำกัดการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์จากนม (milk and dairy products) แต่ต้องมั่นใจว่าท่านได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตสในนม ท่านสามารถที่จะดื่มนมและรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณเล็กน้อยเท่าที่ร่างกายสามารถทนได้ แนะนำให้ท่านรับประทานนมปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free milk) hard cheese และโยเกิร์ต ซึ่งจะมีปริมาณ lactose ที่ต่ำกว่านม หรือรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่มีแคลเซียมสูงแต่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Dairy-free foods) ได้แก่ ผักโขม (Spinach) แอลมอนด์ และผักใบเขียวเข้มต่าง ๆ อย่างไรก็ตามมีการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตส สามารถรับประทานน้ำตาลแลคโตส ได้ประมาณ 12 กรัม เทียบเท่ากับนม 1 ถ้วยตวง ซึ่งในปริมาณเท่านี้จะไม่ทำให้เกิดอาการต่อระบบทางเดินอาหารขึ้น ส่วนภาวะแพ้โปรตีนในนมวัว ท่านจำเป็นต้องอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนประกอบ

เอกสารอ้างอิง

1. Siebar R, et al. (1997). Lactose intolerance and consumption of milk and milk products: Z Ernahrungswiss. Dec;36(4)12: 375-93.

2. Manuyakorn W, et al. (2018). Cow’s milk protein allergy and other common food allergies and intolerance. Paediatr Int Child Health. Jul;17:1-9.