เคยเป็นไหมคะที่ประสบปัญหากับการเข้าห้องน้ำครั้งละนานๆ..ขับถ่ายแต่ละทีก็แสนจะลำบากยากเย็น..หรือบางวันท้องไส้ไม่ค่อยดีต้องเข้าๆ-ออกๆห้องน้ำอยู่บ่อยๆ เกริ่นมาแบบนี้คงมีหลายๆคนพยัคหน้าตามหงึกๆ..โดยเฉพาะฝั่งที่ถ่ายยาก เพราะมันทั้งอึดอัดแล้วก็ทรมานเสียเหลือเกิน วันนี้โมดิชจึงอยากพาทุกๆท่านมารู้จักกับผู้ช่วยที่เป็นมิตรกับลำไส้และระบบขับถ่าย อย่างโพรไบโอติกและพรีไบโอติกกันค่ะ

Morbi vitae purus dictum, ultrices tellus in, gravida lectus.

โพรไบโอติก

โพรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์มีชีวิต แต่ก็ไม่ใช่จะหมายความว่าเป็นจุลินทรีย์อะไรก็ได้นะคะ..เพราะ โพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นชนิดสายพันธุ์ดีที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย อย่างเช่น สายพันธุ์ Lactobacillus casei หรือ Bifidobacterium bifidum เป็นต้น ซึ่งโพรไบโอติกนั้นสามารถพบได้ในอาหารอย่าง โยเกิร์ตหรือ นมเปรี้ยว เป็นต้นค่ะ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโพรไบโอติกนั้นเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เมื่อรับประทานโพรไบโอติก เข้าไปแล้ว มันจะเข้าไปแทนที่จุลินทรีย์ชนิดไม่ดีและเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดี ช่วยลดการติดเชื้อ จากจุลินทรีย์ก่อโรคและปรับสมดุลภายในลำไส้ มีส่วนช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบการขับถ่ายดีขึ้น แต่โพรไบโอติกก็ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคนนะคะ..ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิหรือได้รับเคมีบำบัดอยู่ ก็ควรจะงดเว้นอาหารประเภท โยเกิร์ต นมเปรี้ยวรวมไปถึงอาหารหมักดองทั้งหลาย เพราะอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้นั่นเองค่ะ

พรีไบโอติก

ย้ายฝั่งมาที่พรีไบโอติกกันบ้าง พรีไบโอติกนั้นเป็นสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ แต่จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้อย่างโพรไบโอติกนั้นสามารถหมักและย่อยสลายได้ค่ะ

ซึ่งพรีไบโอติกมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์โพรไบโอติก กล่าวคือ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ตัวดีในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้เติบโตและยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์ก่อโรค ปรับลำไส้ให้เข้าสู่สภาวะสมดุล ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุดีขึ้น และยังมีส่วนช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นอีกด้วย โดยพรีไบโอติกนั้นได้แก่ สารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่มีชื่อเรียกว่า โอลิโกแซคคาร์ไรด์ ซึ่งชนิดที่นิยมนำมาใช้บ่อยๆในอุตสหกรรมอาหาร หรืออาจจะถูกผสมลงไปในอาหารเสริมต่างๆ เช่น ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (FOS) หรือ อินนูลิน (Inulin) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังพบพรีไบโอติกได้จากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น หัวหอม กระเทียม กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง แก่นตะวัน ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี เป็นต้นค่ะ

แน่นอนว่าการรับประทานอะไรมากไปก็ย่อมส่งผลเสีย พรีไบโอติกเองก็เช่นกัน เนื่องจากพรีไบโอติกเป็นอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ หากรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมากก็อาจจะทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง แน่นท้องและท้องอืดได้

โดยสรุปแล้ว โพรไบโอติกคือจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ ส่วนพรีไบโอติกก็คืออาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีอย่างโพรไบโอติกนั่นเองค่ะ ซึ่งปกติทั้ง 2 อย่างนี้ต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้ให้ทำงานได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ รู้อย่างนี้แล้วคนไหนที่รู้สึกว่าท้องไส้ไม่ค่อยสมดุล เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวท้องเสีย ก็อย่าลืมลองหาอาหารที่เป็นแหล่งของพรีไบโอติก และโพรไบโอติกมาลองทานกันดูนะคะ

REF

ภัทรา.รู้จัก PROBIOTIO และ PREBIOTIC กันหรือยัง [อินเตอร์เน็ต].2553 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก : http://biology.ipst.ac.th/?p=884

วิมล.4 ขั้นตอนการเลือก โพรไบโอติก [อินเตอร์เน็ต].2553 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก : https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/22/
%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%
B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A3%
E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%
B4%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B9%8C-Probiotics/

โพรไบโอติกและพรีไบโอติก (Probiotics and Prebiotics) [อินเตอร์เน็ต].2551 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก :

https://www.doctor.or.th/clinic/detail/6931

ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร? [อินเตอร์เน็ต].2562 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก : https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics

ความแตกต่างของโปรไบโอติกและพรีไบโอติก กรณีศึกษา: โยเกิร์ต [อินเตอร์เน็ต].มปป [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก : http://www.agro.cmu.ac.th/absc/data/57/57-007.pdf

ชวลิต.บทบาทของโปรไบโอติกในการป้องกันและรักษา อาการท้องเสียที่เกิดจากยาปฏิชีวนะ [อินเตอร์เน็ต].2557 [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก : http://scijournal.kku.ac.th/files/Vol_42_No_2_P_13-24.pdf

พนารัตน์.เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่เป็นมิตร : โปรไบโอติก (Probiotics) [อินเตอร์เน็ต].มปป [เข้าถึงเมื่อ 2563 มกราคม 24].เข้าถึงได้จาก :http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2555_189_60_p13-15.pdf